แท่งรูปทรงเรขาคณิตทึบ

Geometric_Solids

 อุปกรณ์               

  • แท่งรูปทรงเรขาคณิตทึบ สีน้ำเงิน รูปทรงต่างๆดังนี้  ลูกบาศก์  ทรงกลม  ทรงรี  ทรงไข่  ทรงกระบอก  ทรงกรวย  ปิรามิดฐานสี่เหลี่ยม  ปิรามิดฐานสามเหลี่ยม  ปริซึมฐานสี่เหลี่ยม  ปริซึมฐานสามเหลี่ยม
  • ฐานสำหรับสำหรับแท่งรูปทรง
  • สี่เหลี่ยมจัตุรัสสามแผ่น วงกลมสองแผ่น สามเหลี่ยมด้านเท่าสามแผ่น สามเหลี่ยมหน้าจั่วสองแผ่น สี่เหลี่ยมผืนผ้าสองแผ่น
  • ตะกร้า
  • พรมสำหรับปูพื้น

จุดประสงค์           

  • เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับรูปทรงต่างๆ และกระตุ้นความสนใจเกี่ยวกับรูปทรงของวัตถุต่างๆในโลกรอบตัวเด็ก
  • เพื่อพัฒนาให้เด็กเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงต่างๆ
  • เพื่อเพิ่มพูนคำศัพท์ให้กับเด็ก

คำศัพท์ที่ได้         

               ลูกบาศก์ ทรงกลม ทรงรี ทรงไข่ ทรงกระบอก ทรงกรวย  ปิรามิด ปริซึม

ระดับอายุ             

               4 ½ ปี ขึ้นไป

ข้อเสนอแนะ 1         

               กิจกรรมนี้เป็นการสาธิตรายบุคคลซึ่งควรปูเสื่อทำบนพื้น ให้เด็กนำเสื่อมาปู แล้วครูนำแท่งทรงรูปทรงออกมาสองสามแท่ง เพื่อให้เด็กจับ จากนั้นครูก็แนะนำรูปทรงอื่นๆต่อไปตามลำดับ พร้อมทั้งชื่อรูปทรง หากเด็กแสดงความสนใจจากนั้นให้ครูกล่าวว่า “เรามาดูกันว่ารูปทรงเหล่านี้จะทำอะไรได้บ้าง” จากนั้นครูและเด็กก็ลองใช้แท่งรูปทรงเหล่านั้นประกอบกันเป็นรูปร่างต่างๆหรือลองกลิ้งและหมุนรูปทรง เหล่านั้นดู เมื่อเด็กทำกิจกรรมเหล่านี้เสร็จแล้วครูให้เด็กนำอุปกรณ์ไปเก็บไว้ที่เดิมบนชั้นวาง และกล่าวกับเด็กว่า ถ้าเด็กอยากจะทำกิจกรรมกับอุปกรณ์นี้อีกก็สามารถทำได้ทุกเมื่อ
               สำหรับกิจกรรมนี้ จะไม่มีกลไกควบคุมความผิดพลาด เพราะเป็นเพียงกิจกรรมที่ให้เด็กได้มีประสบการณ์ในการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อรับรู้เกี่ยวกับรูปทรงพร้อมทั้งสำรวจรูปร่างและคุณลักษณะของแต่ละรูปทรงอย่างง่ายๆ

ข้อเสนอแนะ 2         

               กิจกรรมนี้ให้ปูเสื่อทำบนพื้น และใช้ชุดตะกร้าอุปกรณ์แท่งรูปทรง  และครูอธิบายกับเด็กว่า   วันนี้ เด็กจะต้องแบ่งกลุ่มแท่งรูปทรง  จากนั้นครูหยิบแท่งรูปทรงให้เด็กหนึ่งชิ้นเพื่อให้เด็กลูบสัมผัสหรือลองกลิ้งดูจากนั้นให้วางรูปทรงนั้นไว้ที่ด้านบนของเสื่อ แล้วนำแท่งรูปทรงอีกชิ้นมาให้เด็กทำเช่นเดียวกันแล้วถามเด็กว่าควรวางไว้กับแท่งรูปทรงชิ้นแรก หรือควรวางแยกไว้เป็นกลุ่มใหม่ ทำเช่นเดียวกันนี้กับรูป      ทรงอื่นๆที่เหลือเพื่อแบ่งกลุ่มจนครบทุกรูปทรง จากนั้นพูดคุยอภิปรายกับเด็กเกี่ยวกับกลุ่มรูปทรงที่แบ่ง

ข้อเสนอแนะ 3         

               กิจกรรมนี้ควรทำกับเสื่อบนพื้นโดยใช้อุปกรณ์แท่งรูปทรงร่วมกับแผ่นฐาน เด็กและครูช่วยกันนำอุปกรณ์มาวางบนเสื่อ เมื่อเสร็จแล้วให้ครูวางตะกร้าไว้ด้านขวาของเสื่อ จากนั้นครูให้เด็กวางเรียงแท่งรูปทรงไว้ในแนวนอน และวางแผ่นฐานไว้ด้านหน้าแท่งรูปทรง แล้วสำรวจดูว่ามีความคล้ายคลึงกันหรือไม่ระหว่างแท่งรูปทรงและฐาน บางทีครูอาจต้องสาธิตให้เด็กดูซักสองสามตัวอย่าง เพื่อให้เด็กเข้าใจกิจกรรมที่ต้องทำ  เช่น ลูกบาศก์สามารถวางไว้ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ ฐานๆหนึ่งสามารถวางได้หลายรูปทรง และเช่นเดียวกันรูปทรงบางรูปก็สามารถวางได้บนฐานหลายแบบ ตัวอย่างเช่น รูปทรงปริซึมฐานสามเหลี่ยมสามารถวางไว้บนฐานสามเหลี่ยมด้านเท่า และฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า  และครูควรเน้นให้เด็กทราบว่าบางรูปทรงมีได้มากกว่าหนึ่งฐาน

เกม           

               กิจกรรมนี้สามารถจัดได้ทั้งกิจกรรมกลุ่มและเดี่ยว  เมื่อเด็กรู้จักชื่อรูปทรงและผ่านกิจกรรมทั้งสามแล้ว ครูสามารถเล่นเกมโดยคลุมตะกร้าแท่งรูปทรงไว้  และเริ่มเกมโดยสอดมือเข้าใต้ผ้า เลือกหยิบรูปทรงหนึ่งชิ้น อธิบายลักษณะให้เด็กฟังแล้ว ให้เด็กทายว่าเป็นรูปทรงอะไร จากนั้นหยิบรูปทรงนั้นออกมาเฉลย         

หมายเหตุ

               การแนะนำชื่อรูปทรง โดยใช้กิจกรรมสามขั้นตอนเป็นกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป  ส่วนข้อเสนอแนะที่ 2 เป็นกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อแนะนำและเน้นให้เด็กรู้จักชื่อรูปทรงมากยิ่งขึ้น